รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น ความหนา น้ำหนัก หรือแกรมกระดาษ ที่จะนำมาใช้ทำกระดาษเนื้อในหนังสือ กลับกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลโดยตรงต่อประสบการณ์การอ่านหนังสือ โดยเราจะเริ่มมาไล่เรียงมิติต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อประสบการณ์การอ่านกัน โดยเริ่มจากสำรวจแกรมกระดาษที่เป็นที่นิยมในท้องตลาด ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น น้ำหนักกระดาษและความทึบแสง และการเข้ามาของยุคสมัยของเครื่องพิมพ์ออนดีมานที่อาจส่งผลต่อการเลือกกระดาษเนื้อในหนังสือ
กระดาษแกรมไหนเป็นที่นิยมมากที่สุดในการทำเนื้อในหนังสือ
โดยทั่วไปแล้ว กระดาษที่นำมาทำเนื้อในหนังสือ จะอยู่ระหว่าง 70 แกรมไปจนถึง 100 แกรมหรือ 120 แกรมก็มี แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดจะเป็น 80 แกรม เนื่องจากกระดาษในช่วงน้ำหนักดังกล่าว จะค่อนข้างมีความสมดุล ทั้งในแง่ให้ความรู้สึกแข็งแรงในการสัมผัส และไม่หนาและหนักจนเกินไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับหนังสือหลากหลายประเภท และเป็นที่ชื่นชอบ คุ้นเคยสำหรับนักอ่านจำนวนมาก
จะเลือกกระดาษแกรมต่ำ ๆ หรือกระดาษที่มีความทึบแสงสูงดี
เป็นที่น่าเสียดายที่คุณสมบัติทั้งสองอย่างนี้ มักจะไม่ได้ไปคู่กัน กระดาษแกรมต่ำ ๆ อาจช่วยให้หนังสือเบาลงได้ จับถือสะดวก พกพาง่าย แต่ก็ต้องแลกมาด้วย ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์มองทะลุ ลายตา ลำบากต่อการอ่าน หรือถ้าเลือกกระดาษแกรมสูง ๆ เราอาจอุ่นใจเรื่องความง่าย ความชัดเจนในการอ่าน ได้สัมผัสในการเปิดอ่านที่ดีกว่า แต่ต้องยอมรับกับน้ำหนักที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น การสรรหาแกรมกระดาษที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหนังสือแต่ละเล่ม ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่จะต้องพิจารณาปัจจัยหลากหลายมิติ ทั้งประเภทของหนังสือ เทคนิคการพิมพ์ที่ใช้ รวมไปถึงความคาดหวังของผู้อ่านเองด้วย แต่ถ้าหนังสือจำนวนหน้าเยอะ ๆ แกรมต่ำ ๆ หน่อยก็น่าจะเหมาะสมกว่าค่ะ
ความทึบแสงในยุคแห่งการพิมพ์ดิจิตอล
ยุคที่งานพิมพ์ดิจิตอลมีบทบาทในสิ่งพิมพ์ และงานพิมพ์หนังสือมากขึ้น ก็เปิดโอกาสให้กับกระดาษที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน ระบบการพิมพ์แบบโทนเนอร์ ซี่งมักเป็นที่นิยมในเหล่าโรงพิมพ์ดิจิตอลสมัยใหม่ มีจุดเด่นเรื่องการพิมพ์บนกระดาษแกรมบาง เนื่องจากหมึกที่จะยึดเกาะอยู่แค่ชั้นผิวด้านบน ไม่ซึมลงเนื้อกระดาษ ทำให้ลดปัญหาเรื่องการมองทะลุหลังของกระดาษเนื้อในหนังสือไปได้พอสมควร เช่นเดียวกับ ระบบการพิมพ์แบบ Eletroink ของ HP Indigo ที่ให้คุณภาพงานพิมพ์ที่ยอดเยี่ยมเทียบเท่าระบบออฟเซท แต่หมึกพิมพ์จะซึมลงเนื้อกระดาษน้อยกว่าระบบการพิมพ์ออฟเซททั่วไป ทำให้สามารถพิมพ์กับกระดาษน้ำหนักกระดาษที่หลากหลายกว่า
บทสรุปการรังสรรค์หนังสือเล่มโปรดด้วยการเลือกน้ำหนักกระดาษที่สมบูรณ์แบบ
ในโลกของการรังสรรค์หนังสือ การเลือกน้ำหนักกระดาษเป็นเรื่องของความประณีตที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ ความรู้ทั้งเชิงเทคนิคการพิมพ์และความเข้าใจประสบการณ์ของผู้อ่านอย่างลึกซึ้ง ถึงจะสามารถเติมแต่งสรรค์สร้างจินตนาการของนักเขียน นักอ่านให้สมบูรณ์แบบ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการพิมพ์สมัยใหม่ จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทลายข้อจำกัดเดิม ๆ ทิ้งลง และทำให้เราสามารถเลือกสรรวัสดุได้เหมาะสมกับงานหนังสือเราได้ดียิ่งขึ้น