โดยปกติเรามักจะเห็นกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® ในการทำริสแบนด์ สำหรับเข้าสวนน้ำหรืองานอีเวนท์ หรือ ป้าย Bib ในงานวิ่งต่าง ๆ เนื่องจากคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม เช่น ความเหนียวทนทานที่เป็นเลิศ การกันน้ำและสภาพอากาศที่ดีเยี่ยมแต่ยังสวมใส่สบายเหมือนผ้า และยังมีคงคุณสมบัติในการพิมพ์ที่เหมือนกระดาษและสามารถขีดเขียนได้ แต่รู้หรือไม่ ว่ายังมีวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® และสามารถพิมพ์ได้จากเครื่องพิมพ์หลากหลายระบบมากกว่า
ข้อจำกัดของกระดาษสังเคราะห์ Tyvek®
ก่อนอื่นเลยเราต้องมาทำความเข้าใจข้อจำกัดของกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® กันก่อนว่ามีอะไรบ้าง กระดาษสังเคราะห์ Tyvek® ผลิตจากการปั่นสานเส้นพลาสติก (High Density Polyethylene) HDPE ขึ้นมา จึงมีความสามารถทนอุณหภูมิได้ถึง 135 °C อย่างไรก็ดี เครื่องพิมพ์ดิจิตอลออฟเซตระบบ Dry Toner โดยทั่วไป ณ ขณะพิมพ์จำเป็นต้องใช้ความร้อนสูงกว่านั้น หรือประมาณ 160 °C ขึ้นไป โดยเฉพาะในขั้นตอนการผสานหมึกเข้ากับวัสดุพิมพ์ (Fusing Unit) ดังนั้น ความร้อนที่สูงระดับนี้ อาจทำให้กระดาษสังเคราะห์ Tyvek® เกิดการย่น หรือหลอมละลายติดเครื่องพิมพ์ ทำให้เครื่องพิมพ์และวัสดุพิมพ์เสียหายได้ หรือถึงแม้ช่างพิมพ์จะพยายามปรับลดอุณหภูมิของเครื่องพิมพ์ให้ต่ำลง เพื่อให้สามารถพิมพ์งานได้ แต่ก็อาจประสบกับปัญหาการยึดติดของหมึกพิมพ์กับวัสดุพิมพ์ส่งผลให้สีหลุด ลอกได้ง่าย
ดังนั้น กระดาษสังเคราะห์ Tyvek® จึงเหมาะสมกับระบบการพิมพ์ Inkjet (UV Inkjet, Latex Inkjet), Offset, Screen, Gravure และ Flexo และไม่เหมาะกับหมึก Water-based Inkjet และ Solvent-based Inkjet เพราะงานพิมพ์ที่ได้จะซีดจาง ไม่คมชัด
วัสดุทดแทนกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® สำหรับระบบการพิมพ์ Dry Toner
อย่างไรก็ดี สำหรับโรงพิมพ์ที่มีเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล Dry Toner อย่างเพิ่งเสียใจไปค่ะ ปัจจุบัน มีวัสดุที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง แต่สามารถทนความร้อนได้สูงกว่า 160 °C ขึ้นไป โดยไม่ย่นงอ นั่นก็คือ แผ่นพลาสติก PET Polyplex ซึ่งจะเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ทดแทนการกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® ในการทำริสแบนด์ และป้าย Bib วิ่ง เนื่องจากมีความบางเบา เหนียวทนทาน และกันน้ำได้ดี ทั้งนี้ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ววัสดุนี้เป็นพลาสติก PET ข้อด้อยกว่ากระดาษสังเคราะห์ Tyvek® ที่พอสังเกตก็คือ แผ่นพลาสติก PET Polyplex จะดูมีความเป็นพลาสติกหรือกระดาษมากกว่าความเป็นผ้า เมื่อเทียบกับกระดาษสังเคราะห์ Tyvek® ถ้านำมาทำเป็นป้ายวิ่ง Bib ก็อาจมีเสียงดังเหมือนกับการสะบัดกระดาษได้ค่ะ
แต่ถ้าคำนึงถึงข้อดีที่เครื่องดิจิตอล Dry Toner สามารถรับงานพิมพ์ริสแบนด์ หรือป้าย Bib วิ่งได้ด้วย ก็อาจลืมข้อด้อยเล็ก ๆ นี้ไปได้เลยค่ะ
เทคนิคการพิมพ์งานแผ่นพลาสติก PET Polyplex ด้วยเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล Dry Toner
สำหรับเทคนิคการพิมพ์แผ่นพลาสติก PET Polyplex บนเครื่องพิมพ์ดิจิตอล Dry toner ก็ไม่ยาก เพียงแค่เลือกความหนาของกระดาษในขั้นตอนการตั้งค่า ณ ขณะพิมพ์ให้สูงกว่าความหนาของพลาสติกไปอีกสัก 1 ขั้นหรือ 50 แกรม เช่น แผ่นพลาสติกความหนา 115 ไมครอน ให้เลือกเทียบเท่ากระดาษ 150 แกรม หรือแผ่นพลาสติกความหนา 200 ไมครอน ให้เลือกเทียบเท่ากระดาษความหนา 250 แกรม เป็นต้น เพียงแค่นี้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า จะได้งานที่สวยงาม สีติดทนไม่ลอก ร่อน และวัสดุไม่ย่นยับ
แถมค่ะ เนื่องจากแผ่นพลาสติก PET Polyplex สามารถทนความร้อนได้ดี เรายังสามารถนำแผ่นพลาสติกไปทำงานหลังพิมพ์ต่อได้ด้วยนะคะ เช่น การนำไปเคลือบเงา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็จะได้งานเงาสวยในแบบ Glass Skin วิบวับ เงางามเหมือนผิวกระจก ก็สวยในแบบที่กระดาษทั่ว ๆ ไปไม่สามารถทำได้ค่ะ